แผลหลอดเลือด มีทั้งแผลหลอดเลือดแดงตีบตันและแผลหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ ซึ่งนับว่าเป็นแผลเรื้อรังที่นอกจากสร้างความทรมานให้กับผู้ป่วย หากไม่รีบรักษาอาจร้ายแรงจนทำให้ต้องสูญเสียอวัยวะส่วนนั้นได้ในที่สุด ดังนั้นการทำความเข้าใจเพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธีและทันท่วงทีคือสิ่งสำคัญ
ลักษณะแผลหลอดเลือดตีบตัน
แผลหลอดเลือดตีบตัน แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
- แผลหลอดเลือดแดงตีบตัน
- แผลหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ
แผลหลอดเลือดแดงตีบตัน
แผลหลอดเลือดแดงตีบตันส่วนใหญ่พบในคนอายุมาก เกิดจากภาวะที่ทำให้หลอดเลือดแดงตีบตัน ได้แก่ แคลเซียมที่เกิดจากคอเลสเตอรอล โรคของหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดแดงอักเสบ เบาหวาน เป็นต้น
ลักษณะบาดแผลหลอดเลือดแดงตีบตันที่สำคัญ ได้แก่
- แผลจะซีดๆ
- แผลไม่มีเลือดออก
- แผลสามารถลึกถึงเส้นอ้นถึงกระดูกได้
- รู้สึกปวดมาก
- แผลจะลึกและเจ็บ
กลุ่มเสี่ยงแผลหลอดเลือดแดงตีบ
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง
- ผู้ที่เท้าชา เท้าผิดรูป
- ผู้ที่มีเส้นประสาทผิดปกติ
- ผู้ที่มีโรคข้อต่าง ๆ
- ผู้ที่ใส่รองเท้าไม่ถูกต้อง ไม่สามารถป้องกันเท้าได้ ทำให้เกิดแรงกดบริเวณปุ่มกระดูกมาก
***รองเท้าที่ดีจะต้องเป็นรองเท้าสวม เช่น รองเท้ากีฬา ขนาดรองเท้าต้องพอดี ไม่คับ ไม่หลวม หัวแม่เท้าห่างจากหัวรองเท้าประมาณ 1 หัวแม่มือ